สูตรอาหาร

ร่วมสร้าง COOK BOOK ส่วนตัว
เพียงแนะนำสูตรอาหารของคุณที่นี่

เริ่มเลย!

Food Pedia

ปลาไหลทะเล (ปลาไหลหูดำ,ปลาตูหนา)
- [-]
    ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ หรือปลาไหลทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anguilla bicolor อยู่ในวงศ์ปลาตูหนา (Anguilidae) มีรูปร่างอ้วนป้อม ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนปลาสะแงะ (A. bengalensis) ซึ่งอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่ปลาตูหนามีรูปร่างที่เล็กกว่า ครีบอกของปลาตูหนามีสีคล้ำ ในปลาโตเต็มวัยครีบหลังและครีบก้นมีสีคล้ำด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของชื่อว่า ปลาไหลหูดำ ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนไม่มีลวดลาย ใต้ท้องสีขาว ขนาดโตเต็มที่ได้ 1.5 เมตร

    ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกแถบริมชายฝั่งอันดามัน เรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย และในภาคตะวันตกในชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า เช่น จังหวัดตาก, แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยชาวกระเหรียงเรียกปลาชนิดนี้ว่า "หย่าที" ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกพบได้ตั้งแต่พม่า บังคลาเทศ จนถึงอินเดีย โดยปลาที่พบในประเทศแถบนี้จะเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า A. b. pacifica ส่วนปลาที่พบในแถบเอเชียตะวันออกมีชื่อเรียกว่า A. b. bicolor
    ปลาตูหนามีพฤติกรรมจะกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่แถบป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ ลูกปลาแรกเกิดมีลำตัวใสเหมือนวุ้นเส้น มีสีแดงเรื่อ จากนั้นเมื่อโตขึ้นจะค่อยอพยพว่ายทวนน้ำมาสู่แหล่งน้ำจืด ซึ่งบางครั้งอาจพบได้ไกลถึงลำธารน้ำตกบนภูเขา
    ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนในแถบจังหวัดระนองหรือตรัง ถือเป็นเมนูราคาแพง สามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ย่าง หรือทำน้ำแดง ในต่างประเทศที่นิยมบริโภค ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น โดยหน่วยงานประมงของประเทศเหล่านี้ได้มีการส่งเสริมให้เป็นปลาเศรษฐกิจ มีการทำฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ แต่ว่าเนื้อมีกลิ่นคาวมาก จึงนิยมปลาตูหนาญี่ปุ่น (A. japonica) มากกว่า

    สำหรับชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะโซโลมอนจะชื่นชอบปลาชนิดนี้มาก โดยจะไม่มีการจับมาบริโภค แต่จะเลี้ยงด้วยเนื้อเมื่อพวกมันว่ายทวนน้ำมาถึงบริเวณต้นน้ำ เพราะปลาชนิดนี้กินเนื้อและซากสัตว์เป็นอาหารซึ่งทำให้แหล่งต้นน้ำนั้นสะอาด[1]

    ปลาตูหนามีชื่อเรียกที่เป็นไทยกลาง ๆ ว่า ปลาไหลหูดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anguilla bicolor อันเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Anguillidae ซึ่งอาจพบได้ในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เมืองไทยกลับหายาก และพบมากที่จังหวัดตรัง (รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง)

    เจ้าปลาไหลหูดำจัดว่าเป็นอาหารโอชะซึ่งอาจมาสั่งบริโภคได้จากร้านอาหาร ภัตตาคารดัง ๆ ในตลาดเมืองตรัง นักท่องเที่ยวผู้นิยมการชิมอาหารจะไม่ยอมพลาดเมนูพิเศษจานนี้เด็ดขาด แค่ตูหนาผัดเผ็ด ต้มยำ หรือน้ำแดง ก็อร่อยไม่รู้จบแล้ว แต่บางคนอาจชอบย่างซีอิ๊วญี่ปุ่นแบบปลาซาบะ หรือห่อกระดาษฟอยด์ทำเป็นปลาเผาก็อร่อยเหนือปลาอื่น ๆ เพราะเนื้อเหลืองชวนกิน แถมยังเหนียวแน่น มีรสหวานในตัว ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มก็ยังอร่อยเด็ด ไม่แพ้ปลาอุนาหงิของญี่ปุ่นแน่

    เจ้าปลาเนื้ออร่อยตัวนี้มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลเทา สีเข้มด้านบนแล้วค่อยจางลงมา ท้องสีขาวปนเหลืองอ่อน รูจมูกมีท่อเล็ก ๆ ยื่นออกมาทั้งสองข้าง ลำตัวมีเกล็ดละเอียด รูปร่างยาวคล้ายงู ต่างจากปลาไหลนาก็ตรงที่มีครีบอกสองข้างซึ่งบางคนเรียกว่าหู อันเป็นที่มาของคำว่าปลาไหลหูดำ เพราะครีบที่มีสีจางออกดำนี่เอง ตูหนาขนาดใหญ่อาจมีลำตัวขนาดแขนอ้วน ๆ ของผู้ใหญ่บางคน และอาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตรหรือกว่านั้น แต่ก็ไม่น่ากลัวเพราะหน้าตาที่ดูเป็นมิตรของมัน

    วงจรชีวิตของปลาตูหนาออกจะน่าทึ่ง เพราะเจริญเติบโตในน้ำจืด แต่เมื่อถึงคราวจะสืบพันธุ์ออกลูกหลานกลับต้องดั้นด้วางไข่กลางทะเลอันดามัน ครั้นพบไข่ฟักเป็นตัวอ่อน แล้วก็ถึงคราวจะเดินทางกลับมาอยู่น้ำจืดอีกครั้ง ทำมาหากินและเจริญเติบโตในน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน ลูกปลาที่เหลือกลับมาเป็นอาหารของมนุษย์จึงมีไม่สู้มากนัก ตูหนาจึงกลายเป็นของหายากและมีราคา โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่นปลาชนิดนี้มีราคาแพงมาก คนรวยเท่านั้นจึงจะเสาะแสวงหามาบริโภคได้ แต่ในจังหวัดตรังคงไม่ต้องเป็นเศรษฐีก็สามารถสั่งปลาตูหนามาลิ้มรสได้โดยง่าย

    ราคาสูง หาทานได้ยาก ราคาตกราวตัวละ 700 บาท

    ลักษณะเนื้อแน่น มีเมือกมา วิธีเอาเมือกออกให้เอาไปลวกน้ำร้อน

    สูตรอาหารปลาไหลทะเล เช่น ปลาไหลผัดซอสฮ่องกง
ค้นหาสูตรอาหารที่เกี่ยวข้อง

Official Editor

Warm Welcome

Foodie

ผู้หลงรักการทำและชิมอาหาร

Partner

พันธมิตร และแบรนด์วัตถุดิบอาหาร

Professional service

หน่วยงานและองค์กร

Contact Us

Bangkok Thailand

+6681 559 9599

foodietaste88@gmail.com