สี่เหย่าฉอง คือโรงซีอิ๊วนั่นเอง เสียงเรียก "ซีอิ๊ว" เป็นสำเนียงจีนแต้จิ๋ว คนไทยนำมาเรียกว่า "ซี่อิ๊ว" ส่วนคนกวางตุ้งเราเรียกว่า "สี่เหย่า" คำว่า "สี่" มาจาก "เต่าสี่" ที่หมายถึงเมล็ดถั่วเหลือง และ "เหย่า" คือน้ำมันหรือหัวน้ำเชื้อที่สกัดได้จากพืชผลและเมล็ดพืชต่าง ๆ ดังนั้นสี่เหย่าจึงแปลว่า หัวน้ำเชื้อที่ได้จากถั่วเหลือง ซึ่งก็คือซอสปรุงรสชนิดหนึ่งนั่นเอง
จากหนังสือชื่อ ซีอิ๊ว ของ เฉินเซิ้งเหอะ แปลเป็นไทยโดย ผศ. ดร. วิเชียร ลีลาวัชรมาศ ได้บันทึกไว้ว่า
"ซีอิ๊วเป็นอาหารที่ชาวจีนคิดค้นผลิตขึ้นมากว่า ๓,๐๐๐ ปีแล้ว แรกเริ่มใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ต่อมาจึงค้นพบวิธีเอาข้าวสาลีเข้าผสมด้วยในขั้นตอนการหมัก ซีอิ๊วก็เช่นเดียวกับอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่ได้รับการค้นพบและค้น คว้าพัฒนาโดยพระสงฆ์ จากนั้นกรรมวิธีการผลิตซีอิ๊วได้แพร่หลายไปยังญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ จนในที่สุดกลายมาเป็นเครื่องปรุงรสประจำวันที่จะขาดเสียมิได้เลย และซีอิ๊วได้พัฒนารูปแบบไปต่าง ๆ นานาตามแต่สถานที่ที่ได้เดินทางไปถึง ที่เห็นชัดเจนคือในประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาแตกต่างออกไปจากจีนมาก ทั้งรสชาติ ความข้นใส และการใช้งาน หากแต่พื้นฐานก็มาจากการผลิตของจีนเมื่อ ๓,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วนั่นเอง"
ซีอิ๊วที่ผลิตในประเทศจีนนั้นสีจะดำและมีรสเค็ม ส่วนซีอิ๊วหวานนั้นแทบจะไม่ได้ใช้เลยในการปรุงอาหาร คงใช้เพียงซีอิ๊วขาวตัวเดียว แต่ถึงจะชื่อซีอิ๊วขาว สีของน้ำซีอิ๊วกลับไม่ขาว หากมีสีดำและเค็ม ที่สำคัญคือไม่หอม สู้ของไทยไม่ได้ ถ้าเอาซีอิ๊วจีนใส่น้ำแกงหรือเหยาะข้าวต้ม อาหารจะออกสีดำมาก ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นความนิยมของคนจีน ดังนั้นเมื่อซีอิ๊วของไทยไปยืนอยู่ในตลาดโลกแล้ว ซีอิ๊วขาวของไทยจึงถูกวางอยู่ในตำแหน่ง Thin Soy Sauce ส่วนซีอิ๊วของจีนเรียกว่า Regular Soy Sauce หรือ Chinese Soy Sauce และมีของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Japanese Soy Sauce และซีอิ๊วขาวของไทยเรามีสีอ่อนบางใสที่สุด
การทำซีอิ๊วนั้นเป็นการผลิตที่มีเอกลักษณ์มาก อยากใช้คำว่า "unique" คือเป็นยิ่งกว่าการผลิต นั่นคือถือว่าเป็นวัฒนธรรมเลยทีเดียว ไม่ใช่เพียงมีเครื่องมือทันสมัยแล้วจะผลิตซีอิ๊วได้ characteristic ของซีอิ๊วคือ อาหารหมัก ซึ่งต้องมีเทคนิคมาก การหมักต้องใช้พื้นที่มากซึ่งหมายถึงลงทุนมาก ต้องมีที่เก็บถั่วเหลืองอันเป็นวัตถุดิบ และยังต้องเก็บไม่ให้ชื้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าความพิเศษของผลิตภัณฑ์ซีอิ๊ว ทำให้ชาวกวางตุ้งครองตลาดตรงนี้มาได้เป็นเวลายาวนาน"
และที่น่ายินดีคือ การผลิตซีอิ๊วของสี่เหย่าฉองในเมืองไทยใช้ถั่วเหลืองที่มีอยู่ในประเทศทั้ง สิ้น เนื่องจากกระบวนการผลิตสี่เหย่าไม่ได้ต้องการน้ำมันจากเม็ดถั่ว เพียงต้องการสกัดโปรตีนออกมาแล้วผ่านกระบวนการหมักให้มีรสตามต้องการ แต่ถั่วเหลืองจากต่างประเทศเป็นถั่วเม็ดใหญ่ พันธุ์ดี และให้น้ำมันมาก จึงไม่นิยมนำมาผลิตซีอิ๊ว
Comment (0)